สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกระหว่างวันที่ 4 – 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้ถือเป็นพระราชพิธีสำคัญที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีเก่าแก่ที่ปรากฏหลักฐานว่าเคยมีมาแล้ว 11 ครั้ง จากกษัตริย์ของไทย 9 พระองค์ มีเพียงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลพระองค์เดียวที่ไม่ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เนื่องจากพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ในขณะที่ยังมีพระชนมายุได้เพียง 9 พรรษา จึงจำเป็นจะต้องมีคณะผู้สำเร็จราชการแทน และพระองค์ได้เสด็จสวรรคตก่อนที่จะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 จะเป็นการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 12

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีที่จะทำให้การดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์เป็นไปอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ หากพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใดไม่ได้ผ่านการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะถือว่าการดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ยังไม่สมบูรณ์ เครื่องยศและพระนามจะแตกต่างไปจากพระเจ้าอยู่หัวที่ผ่านการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว และปีถัดมาในวันที่เดียวกันกับวันที่มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะเป็นวันฉัตรมงคล

การประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มี 5 ขั้นตอนหลักๆ ที่เป็นพระราชพิธีสำคัญดังนี้

1. พิธีเตรียมน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษก เป็นขั้นตอนในการนำน้ำจากแม่น้ำสายสำคัญของประเทศมาตั้งพิธีเสกที่พุทธเจดียสถานและวัดสำคัญๆ ในแขวงนั้นๆ เพื่อนำน้ำที่เสกมาทำเป็นน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษก ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงใช้น้ำอภิเษกนี้เป็นส่วนหนึ่งในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เช่นเดียวกับในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

2. พระราชพิธีจารึกดวงพระราชสมภพ และพระบรมนามาภิไธยพระเจ้าอยู่หัว ในขั้นตอนนี้จะเป็นการจารึกดวงพระราชสมภพและพระบรมนามาภิไธยของพระมหากษัตริย์ลงพระสุพรรณบัฏ เพื่อใช้ถวายในการพระราชพิธีก่อนถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และจะมีการแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ต้องเชิญประดิษฐานบนแท่นมณฑลในพระราชพิธีด้วย

3. พระราชพิธีโสรจสรงพระมุรธาภิเษก เป็นพิธีรับน้ำพระพุทธมนต์และน้ำเทพมนต์เพื่อใช้สรงสนานพระองค์และสรงสนานพระเศียรด้วยสหัสธารา เป็นการชำระและบังเกิดสิริสวัสดิมงคลตามแบบราชประเพณีโบราณ

4. พระราชพิธีถวายพระราชสมบัติอันบริบูรณ์ในพระราชอาณาจักร โดยจะประมวลเป็นประมาณมาทั้งอัฐทิศแด่พระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงรับไว้อภิรักษ์ และอภิบาลให้เป็นอาณาประโยชน์แก่พสกนิกร

5. พระราชพิธีถวายดวงพระบรมราชสมภพ พระบรมนามาภิไธย ในขั้นตอนสุดท้ายนี้ พระมหาราชครูพราหมณ์ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเครื่องมงคลสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ เพื่อเป็นการแสดงพระราชฐานะของสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าโดยสมบูรณ์ หลังจากทรงรับเครื่องมงคลสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์แล้วจึงมีพระราชดำรัสดังปฐมราชโองการเป็นลำดับต่อไป

ในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกโดยตัดขั้นตอนหรือพิธีการที่ไม่จำเป็นออกไป เหลือไว้แต่ที่จำเป็นเท่านั้น และทรงมีปฐมบรมราชโองการในครั้งนั้นว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”