ในการทำงานไม่ว่างานนั้นจะเป็นงานอะไร ย่อมต้องมีการสื่อสารหรือการอธิบายรายละเอียดเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน หรือที่เรียกว่า การบรีฟงาน ซึ่งงานบางประเภทอาจไม่ต้องอาศัยการบรีฟมากนัก แต่สำหรับงานออกแบบ การบรีฟงานเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้งานออกมาตรงตามความต้องการของผู้ว่าจ้าง ซึ่งบางครั้งการบรีฟงานก็ไม่ใช่การบรีฟที่ดี ทำให้เกิดผลเสียกับงาน อย่างเช่นประโยคบรีฟงานเหล่านี้
– ขอเมนูเรียบๆ เท่ๆ เห็นแล้วโดน
– ออกแบบมาได้เลย เอาแบบที่คิดว่าสวย
– โลโก้นิดเดียว ทำแป๊บเดียวก็เสร็จ
– แบบนี้ไม่สวย ลองเปลี่ยนเป็นสีนี้… ขยับขึ้นอีกนิดก็น่าจะสวย
ประโยคเหล่านี้คือตัวอย่างของปัญหาในการบรีฟงานที่มักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งในการทำงานออกแบบ อาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่พอได้มาลงมือทำจริงๆ จะพบว่าไม่ง่ายอย่างที่คิด ปัญหาต่างๆ จะเกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจกันระหว่างนักออกแบบและผู้ว่าจ้าง เป็นปัญหาที่มีมานานและยังคงมีมาตลอด ทำให้เกิดผลเสียกับงาน เช่น งานออกแบบที่ได้ไม่ตรงกับความต้องการของผู้ว่าจ้าง และยังส่งผลกระทบไปถึงกลุ่มเป้าหมายและระยะเวลาที่เสียไปอย่างเปล่าประโยชน์
ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ล้วนเกิดมาจากการบรีฟงานที่ไม่สามารถสร้างความเข้าใจให้ตรงกันได้ และความเข้าใจที่ไม่ตรงกันนี้เองที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายเกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อกัน ซึ่งการแก้ปัญหาก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ต้องรู้จักหลักการบรีฟงานที่ดี ดังนี้
1. ควรให้ข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ กับนักออกแบบอย่างครบถ้วน เช่น รูปแบบตัวอักษร (Font) หรือสีที่ต้องการ
2. นักออกแบบมีหน้าที่ในการสะท้อนจุดขายผ่านงานออกแบบทุกชิ้น ซึ่งจุดขายนี้จะช่วยให้ธุรกิจดีขึ้น การบรีฟงานที่ดีจึงต้องเป็นการบรีฟที่ตรงกับจุดประสงค์ของการนำไปใช้ ไม่ควรบรีฟงานแบบกว้างๆ
3. ผู้ว่าจ้างจะต้องเปลี่ยนมุมมองความคิดที่มีต่องานออกแบบ งานออกแบบคือผลลัพธ์ของกระบวนการ เป็นงานที่ต้องใช้เวลา ไม่ใช่การซื้อแบบไฟนอล หากเข้าใจได้แบบนี้แล้ว ปัญหาในการบรีฟงานก็จะไม่เกิด ทั้งสองฝ่ายจะมีความเข้าใจตรงกันว่า วัตถุประสงค์ของงานคืออะไร
ที่มา : pixabay.com