การบูลลี่ในไทยเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน ซึ่งประเทศไทยติดอันดับ 2 ของโลก เนื่องจากการบูลลี่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน ที่ทำงาน และก็สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย ไม่ว่าจะในวัยเรียนหรือวัยทำงาน ก็โดนบูลลี่ได้ ซึ่งในบางครั้งการพูดอย่างไม่คิดให้ดี ๆ อาจเป็นการบูลลี่คนอื่น และคนที่โดนบูลลี่อาจเสียความรู้สึก และเจ็บลึกไปอย่างยาวนาน ดังนั้นในบทความนี้เราจะมาแนะนำวิธีรับมือกับการโดนบูลลี่กันค่ะ

การบูลลี่ (Bully)

คือ การกลั่นแกล้งกันในสังคม ไม่ว่าจะด้วยคำพูดที่ใส่ร้าย ว่าร้าย ทำให้อับอาย หรือไปจนถึงการกลั่นแกล้งแบบรุนแรง ซึ่งเป็นการทำร้ายทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ซึ่งผู้ที่ทำการบูลลี่ มักจะเป็นผู้ที่มีอิธิพล อำนาจมากกว่าคนที่โดนบูลลี่ หรืออาจเป็นใครบางคนที่ทำไปเพื่อที่จะให้เรารู้สึกมีอำนาจน้อยลง มีประโยชน์น้อยลงได้

วิธีการรับมือกับการโดนบูลลี่

ในสถานการณ์ที่คุณกำลังโดนบูลลี่ สิ่งแรกที่คุณจะต้องทำคือการกลับมาทำงานกับตัวเอง และมีสติก่อนที่จะตอบโต้อะไรออกไป แม้ว่าแนวทางการรับมือ และดูแลตัวเองเมื่อตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่โดนบูลลี่อาจแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน การพิจารณาถึงความปลอดภัยของตัวเองคือสิ่งที่คุณควรจะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก

1.พยายามอย่าตอบสนอง เมื่อโดนกลั่นแกล้ง ดูถูก แม้จะหนักแค่ไหน ลองทำหูทวนลม ไม่รับคำพูดเหล่านั้น อาจทำให้คนที่กลั่นแกล้งรู้สึกหมดสนุก เพราะหากตอบโต้หรือเถียงกลับไปทุกครั้งอาจทำให้เรื่องบานปลายกันไปใหญ่
2. ไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรง เราสามารถแสดงความไม่พอใจได้ แต่ไม่ควรตอบโต้ด้วยความรุนแรงกลับไป เพราะอาจทำให้อีกฝ่ายป้ายความผิดเราได้ และจะกลายเป็นจำเลยสังคม
3. เก็บหลักฐานไว้ การป้องกันตัวเองด้วยหลักฐานอะไรสักอย่างที่สามารถบ่งชี้ได้ว่ามีคนบูลลี่เรา อาจเป็นคลิปเสียง ภาพถ่าย ที่ให้เห็นว่าโดนแกล้งยังไง โดนมาแล้วกี่ครั้ง เพื่อเอาไปปรึกษาอาจารย์ ผู้ปกครอง หรือหากมีเรื่องรุนแรงจะได้สามารถนำไปแจ้งความดำเนินคดีได้
4. ปรึกษาผู้ใหญ่ อาจจะเป็นคุณครู หัวหน้างาน หรือคนในครอบครัว ถึงการโดนกลั่นแกล้ง อย่างน้อยการได้ระบายให้ใครสักคนฟังก็ช่วยให้เราสบายใจขึ้น อีกทั้งการปรึกษาคนที่ไว้ใจได้ พึ่งพาได้ ก็ยังจะทำให้รู้สึกปลอดภัย และอบอุ่นใจ
5. ตัดขาดกับคนที่บูลลี่ ถ้าเจอคนมาบูลลี่พยายามอยู่ห่างจากเขาให้มากที่สุด หรือถ้าโดนบูลลี่ทางโซเชียลก็จัดการบล็อกทุกช่องทางการติดต่อไปเลย
6. ปล่อยวางให้ได้ ถ้าเรายิ่งคิดวน ๆ ซ้ำ ๆ ถึงสิ่งที่โดนกระทำ อาจเป็นการทำร้ายตัวเอง เราจึงควรยอมรับความจริง พยายามปล่อยวางเพื่อใช้ชีวิตต่อ เพื่อให้มองเห็นคุณค่าในตัวเองให้มากขึ้น
7. พบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ถ้ารู้สึกแย่มาก ๆ ชีวิตมืดแปดด้าน หาทางออกให้ตัวเองไม่ได้ ลองปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ให้เขาช่วยเยียวยาบาดแผลในใจให้ก้าวผ่านไปได้
8. ดำเนินคดีตามกฎหมาย การบูลลี่หลายกรณี เช่น การทำร้ายร่างกาย การคุกคามทางเพศ โพสต์ข้อความอันเป็นเท็จทำให้ได้รับความเสียหาย หรือถูกแชร์เรื่องส่วนตัว ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย สามารถรวบรวมหลักฐานแจ้งความดำเนินคดีได้

การโดนบูลลี่ ควรแก้กับทุกคน ทุกด้าน ไม่เพียงแต่เหยื่อที่ถูกกระทำเท่านั้น แต่ควรต้องเยียวยากลุ่มคนที่อยู่ในปัญหาการบูลลี่ทั้งหมด เพื่อให้การบูลลี่ในไทยลดลง และค่อย ๆ หายไป เพราะการโดนบูลลี่ ไม่ใช่เรื่องสนุก และอาจสร้างบาดแผลให้กับคนที่โดนรู้สึกแย่ และไม่มั่นใจได้อีกด้วย