โรคซึมเศร้าคืออะไร?
เมื่อพูดถึง “โรคซึมเศร้า” หลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นความรู้สึกเศร้าเสียใจธรรมดาๆ ที่เรามักเป็นกันอยู่เสมอในชีวิตประจำวัน แต่ความจริงแล้ว โรคซึมเศร้าคือคำเรียกของผู้ที่มีอารมณ์หรือความรู้สึกติดลบในขั้นรุนแรง มีลักษณะอาการต่างๆ ที่ส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างเห็นได้ชัด เช่น ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง หมดความสนใจในเรื่องที่เคยสนใจ ปิดตัวเองจากโลกภายนอก หรือไม่อยากมีชีวิตอยู่
ซึ่งในผู้ที่มีอารมณ์เศร้าเสียใจธรรมดาจะสามารถรู้สึกดีขึ้นได้เองจากสถานการณ์รอบตัวที่ดีขึ้น ในขณะที่ผู้ที่มีภาวะโรคซึมเศร้าจะต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง โดยคำว่า โรค นั้นบ่งบอกชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นความผิดปกติทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาทั้งร่างกายและจิตใจ ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจึงไม่ใช่คนมีปมด้อยหรืออ่อนแอ แต่เขาแค่กำลังมีอาการของ โรค ชนิดหนึ่งที่สามารถรักษาให้ทุเลาลงได้นั่นเอง

แล้วอาการที่เราเป็นอยู่ตอนนี้ใช่ “โรคซึมเศร้า” หรือเปล่า?
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านอารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรมอย่างเห็นได้ชัด หากเรากำลังสงสัยว่าอาการที่เป็นอยู่ตอนนี้ใช่โรคซึมเศร้าหรือเปล่า ให้ลองสังเกตดูว่าเรามีอาการหรือความเปลี่ยนแปลงตามนี้หรือไม่
อารมณ์เปลี่ยนไป กลายเป็นคนซึมเศร้า ร้องไห้หรือสะเทือนใจง่าย เก็บตัว ไม่พูดคุยกับใคร ไม่ร่าเริงแจ่มใส เบื่อหน่ายกับทุกสิ่งรอบตัว ไม่รู้สึกสนุกกับสิ่งที่เคยสนใจหรือชอบทำ ในบางรายอาจอารมณ์ร้อน หงุดหงิดง่าย ทำให้กระทบไปถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
ความคิดเปลี่ยนไป กลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย มองเห็นตัวเองทั้งในอดีตและปัจจุบันเป็นคนที่มีแต่ความล้มเหลวและผิดพลาด รู้สึกสิ้นหวัง มืดแปดด้าน ขาดความมั่นใจจนทำให้ตัดสินใจช้าลง คิดว่าตัวเองไร้ค่า เป็นภาระคนอื่น และเกิดความคิดว่าอยากตาย
สมาธิความจำและการงานแย่ลง กลายเป็นคนขี้ลืมแม้กับเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น จิตใจเหม่อลอย ขาดสมาธิที่จะจดจ่อกับอะไรนานๆ ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง กลายเป็นคนที่ถูกมองว่าขาดความรับผิดชอบ
มีอาการทางร่างกายที่สังเกตเห็นได้ชัด มักจะรู้สึกอ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง ไม่อยากทำอะไร นอนหลับยาก ในบางรายอาจนอนหลับนานจนผิดปกติ เบื่ออาหาร ทำให้น้ำหนักลดลงแบบผิดปกติ และอาจท้องผูก แน่นท้อง ปากคอแห้ง ปวดหัว หรือปวดเมื่อยตามตัวด้วยเช่นกัน
มีอาการของโรคจิต จะพบในผู้ป่วยที่อยู่ในขั้นรุนแรงมาก โดยจะมีอาการหลงผิดหรือประสาทหลอน เชื่อไปเองว่ามีคนคอยกลั่นแกล้งอยู่ตลอดเวลา บางครั้งอาจหูแว่ว ได้ยินเสียงคนพูดด้วย แต่หากได้รับการรักษาอาการเหล่านี้ก็จะทุเลาลงได้
จุดสังเกตของผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าคือจะต้องมีอาการเหล่านี้นานติดต่อกัน 2 สัปดาห์ขึ้นไป และมีอาการอยู่แทบจะทุกวันและตลอดเวลา หากเป็นๆ หายๆ จะไม่นับว่าเป็นโรคซึมเศร้า
ทำความเข้าใจ แก้ไขปัญหา บอกลาโรคซึมเศร้า

เมื่อพบว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า สิ่งแรกที่ต้องทำคือทำความเข้าใจก่อนว่า โรคซึมเศร้าคือ “โรค” ชนิดหนึ่งที่สามารถรักษาให้หายได้ หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพคงจะเหมือนกับการไม่สบายที่มีตัวกระตุ้นจากความเปลี่ยนแปลงของอากาศ ทำให้มีอาการปวดหัวตัวร้อน แต่เมื่อกินยาก็หายเป็นปกติ โรคซึมเศร้าก็เช่นเดียวกัน
หากคนรอบข้างเข้าใจและพร้อมที่จะอยู่เคียงข้าง รวมทั้งตัวผู้ป่วยเองก็ต้องทำความเข้าใจในอาการของโรคที่ตัวเองเป็น ดูแลรักษาตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่กดดันหรือมองว่าตัวเองไร้ค่า หากทำได้ตามนี้อาการซึมเศร้าก็จะค่อยๆ ทุเลาลง และจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขเหมือนเดิม

ที่มา
ข้อมูล : med.mahidol.ac.th
รูปภาพ : freepik.com