ในช่วงหน้าฝนแบบนี้หลายพื้นที่ อาจเกิดน้ำท่วมขัง น้ำหลาก อาจทำให้บ้านเรือน และข้าวของได้รับความเสียหาย แต่อีกสิ่งที่ต้องระวังเช่นเดียวกันในพื้นที่น้ำท่วม คือโรคที่มากับน้ำท่วม ซึ่งวันนี้เราจะพาไปรู้จักกับ 7 โรคที่มากับน้ำท่วม พร้อมบอกอาการของโรค และวิธีการป้องกัน
1. โรคผิวหนัง
เป็นโรคที่พบบ่อยในช่วงน้ำท่วมขัง ไม่ว่าจะเป็น โรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อรา แผลผุพองเป็นหนอง เป็นต้น เนื่องจากการแช่อยู่กับน้ำเป็นเวลานานหรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรค ทั้งนี้รวมถึงความอับชื้นจากเสื้อผ้าที่ไม่สะอาด ไม่แห้งเป็นเวลานานอีกด้วย
อาการ ในระยะแรก อาจมีอาการเท้าเปื่อย และเป็นหนอง ต่อมาจะเริ่มมีอาการคันตามซอกนิ้วเท้า และผิวหนังลอกออกเป็นขุย มีผื่น ซึ่งระยะหลัง ๆ ผิวหนังที่เท้าเกิดจะเกิดการพุพอง นิ้วเท้าหนา และแตก อาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้ เช่น ผิวหนังอักเสบ
การป้องกัน พยายามหลีกเลี่ยงการแช่อยู่ในน้ำนาน ๆ แต่ถ้าต้องย่ำน้ำ หรือแช่อยู่ในน้ำ ควรใส่รองเท้าบู๊ทกันน้ำ และต้องสวมใส่ถุงเท้า รองเท้า เสื้อผ้าที่สะอาดไม่เปียกชื้น ทั้งนี้ต้องล้างเท้าให้สะอาด หลังแช่อยู่ในน้ำ นอกจากนี้หากพบว่ามีบาดแผลที่เท้า ควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดแผล แล้วทายาฆ่าเชื้อทันที
2. โรคไข้เลือดออก
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค และพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกได้ทุกวัย และทุกภาคของประเทศไทย
อาการ มีไข้สูงตลอดทั้งวัน ประมาณ 2-7 วัน เบื่ออาหาร หน้าแดง ปวดศีรษะ อาเจียน และอาจมีผื่น จุดแดงเล็ก ๆ ตามลำตัว แขน ขา หรือถ่ายอุจจาระดำ ต่อมาไข้จะเริ่มลง มือเท้าเย็น หรือมีเลือดออกผิดปกติ เช่น ไอปนเลือด อาจจะมีภาวะช็อค และเสียชีวิตได้
การป้องกัน เมื่อเป็นไข้ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวลดไข้ แล้วกินยาลดไข้พาราเซตามอล ห้ามใช้ยาแอสไพริน เพราะจะทำให้เลือดออกง่ายขึ้น พยายามดื่มน้ำมาก ๆ อาจจะดื่มน้ำผลไม้ หรือน้ำตาลเกลือแร่บ่อย ๆ แทนน้ำเปล่า และถ้ามีอาการปวดท้อง ซึมลง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ไข้ลด ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที และในช่วงน้ำท่วม ที่มีน้ำท่วมขังทำให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพิ่มขึ้น ต้องระวังอย่าให้ยุงกัดในตอนกลางวัน นอนกางมุ้ง ทายากันยุง และกําจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
3. โรคฉี่หนู
โรคฉี่หนู หรือ โรคเลปโตสไปโรสิส เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยเชื้อจะออกมากับฉี่ของสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น หนู หมู วัว ควาย แพะ แกะ และสุนัข แล้วปนเปื้อนอยู่ในน้ำท่วมขัง พื้นดินที่ชื้นแฉะ ซึ่งเชื้อจะข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยขีดข่วน รอยถลอก หรือ เข้าทางเยื่อบุตา จมูก ปาก และผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคฉี่หนู ได้แก่ ผู้ที่เดินลุยน้ำท่วม ชาวนา คนงานขุดลอกท่อระบายน้ำ เป็นต้น
อาการ จะเริ่มมีอาการหลังได้รับเชื้อ 4-10 วัน โดยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อมาก บริเวณน่อง และโคนขา หรือ ปวดหลัง และบางคนมีอาการตาแดง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ท้องเสีย ดังนั้นจึงควรรีบไปพบแพทย์ เพราะถ้าไม่รีบรักษา อาจทำให้ไอมีเลือดปน ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะน้อย ซึม เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเสียชีวิตได้
การป้องกัน หลีกเลี่ยงการเหยียบ หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน ถ้าจำเป็นต้องสวมรองเท้าบู๊ทกันน้ำ และหลังจากที่แช่น้ำ ต้องรีบอาบน้ำชําระร่างกายให้สะอาด ฟอกสบู่ให้ทั่วตัว โดยเฉพาะตามง่ามนิ้วเท้า หรือบริเวณที่มีแผล รอยขีดข่วน และซับให้แห้งโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ต้องเก็บกวาดขยะใส่ถุงพลาสติก มัดปากถุงให้แน่น ไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู และดูแลที่พักให้สะอาดไม่ให้เป็นที่อาศัยของหนูได้
4. โรคตาแดง
เป็นอีกโรคที่มากับน้ำท่วม และเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ถึงแม้ว่าโรคนี้จะสามารถหายได้เอง แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มเป็น อาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคติดต่อ อาจเกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับน้ำตา ขี้ตา น้ำมูกของผู้ป่วย และอาจเกิดจากการใช้สิ่งของร่วมกันกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดหน้า หรือ แมลงหวี่ที่มาตอมตา เป็นต้น
อาการ หลังจากได้รับเชื้อ 1-2 วัน จะเริ่มมีอาการระคายเคืองตา ปวดตา น้ำตาไหล กลัวแสง มีขี้ตามาก หนังตาบวม เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง และผู้ป่วยมักหายได้เองภายใน 1 – 2 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่ดูแลรักษาให้ถูกวิธี อาจเกิดอาการแทรกซ้อนได้ เช่น กระจกตาดำอักเสบ ทำให้ปวดตา ตามัว
การป้องกัน ถ้าหากตาโดนน้ำสกปรก ควรรีบล้างด้วยน้ำสะอาดทันที แต่ถ้ารู้สึกมีอาการตาแดงเกิดขึ้นให้ไปพบแพทย์ เพื่อรับยาหยอดตาหรือยาป้ายตา ป้องกันภาวะแทรกซ้อน และหากมีไข้ให้กินยาลดไข้ แก้ปวดตามอาการ นอกจากนี้ต้องล้างมือให้ความสะอาดอยู่บ่อย ๆ และไม่ขยี้ตา หรือใช้สายตามากเกินไป ทั้งนี้ผู้ป่วยควรนอนแยกจากคนอื่น ๆ และไม่ใช้สิ่งของต่าง ๆ ร่วมกัน และถ้ามีอาการปวดตารุนแรง หรืออาการไม่ทุเลาใน 1 อาทิตย์ ควรไปพบแพทย์อีกครั้ง
5. โรคไข้มาลาเรีย
เป็นอีกหนึ่งโรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ ซึ่งไข้มาลาเรียเกิดจากเชื้อโปรโตซัวที่อยู่ในตัวยุงก้นปล่องเพศเมีย และหากโดนยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรียกัด ยุงจะปล่อยเชื้อมาลาเรียเข้ากระแสเลือด
อาการ หลังได้รับเชื้อ 7 – 10 วัน จะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ บางรายอาจมีอาการไข้ต่ำ ๆ คล้ายไข้หวัด ต่อมาจะมีไข้สูง ตัวร้อนจัด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัวและกล้ามเนื้อ บางรายมีอาการหนาวสั่นหรือเป็นไข้จับสั่น และอาจมีอาการคลื่นไส้ แต่ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจจะทำให้เสียชีวิตได้
การป้องกัน ควรสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวอย่างมิดชิดป้องกันยุงกัด และใช้ยากันยุงชนิดโลชั่นหรือสเปรย์ฉีดผิวหนังทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง โดยเฉพาะในช่วงเวลาตอนกลางคืน ซึ่งเป็นช่วงที่ยุงก้นปล่องออกหากิน และนอนในมุ้ง เพื่อป้องกันยุงกัด ถ้าหากมีอาการเจ็บป่วยดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
6. โรคอุจจาระร่วง
การติดต่อเชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป รวมไปถึงอาหารที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารที่ทิ้งค้างคืนโดยไม่ได้แช่เย็น และไม่ได้อุ่นให้สุกอย่างทั่วถึงก่อนนําไปกิน ทั้งนี้ในช่วงน้ำท่วม มีโอกาสเกิดการแพร่ระบาดของโรคอุจจาระร่วงได้มาก เพราะของเสีย เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ ที่อาจปนเปื้อนมากับน้ำท่วม
อาการ ผู้ป่วยมีอาการถ่ายอุจจาระเหลวอย่างน้อย 3 ครั้ง หรือถ่ายเป็นน้ำอย่าง น้อย 1 ครั้ง หรือถ่ายมีมูกเลือดหรือมูกปนเลือด และอาจมีอาเจียน เบื่ออาหารร่วมด้วย
การป้องกัน ดูแลความสะอาด เท่าที่จะทำได้ในช่วงน้ำท่วม ล้างมือให้สะอาด และดื่มน้ำสะอาดกินอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ ๆ หรืออุ่นให้ร้อน และเก็บอาหารในภาชนะที่มิดชิด แยกขยะ หรือของเสีย เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ ไม่ให้ปนเปื้อนไปในน้ำ
7. โรคระบบทางเดินหายใจ
มีด้วยกันหลายโรค ที่พบป่วยกันบ่อย จะเป็นไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือ เชื้อแบคทีเรีย ที่ปนเปื้อนมาในช่วงน้ำท่วม ซึ่งเชื้อสามารถติดต่อแพร่กระจายได้ผ่านเสมหะ น้ำลาย น้ำมูก หากไม่ดูแลร่างกายให้แข็งแรง หรือปล่อยไว้นาน อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ รุนแรง เช่น ปอดบวม ปอดอักเสบ จนอาจเสียชีวิตได้
อาการ ไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่มีอาการใกล้เคียงกัน คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว มีน้ำมูกไหล คัดจมูก ไอจาม เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย เบื่ออาหาร
การป้องกัน พยายามดูแลรักษาความสะอาด สุขอนามัยในช่วงน้ำท่วม เท่าที่จะทำได้ แต่ถ้ามีไข้ ไอ จาม ควรรีบกินยาลดไข้ หรือยาที่มีตัวยาพาราเซตามอล และควรใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูกเวลาไอ จาม หรือควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคสู่บุคคลอื่น กินผักผลไม้ อาหารย่อยง่าย ดื่มน้ำอุ่น แต่ถ้ามีไข้สูง หรือเป็นไข้นานเกิน 7 วัน ควรรีบไปพบแพทย์
ทั้ง 7 โรค เป็นโรคที่มากับน้ำท่วมขัง ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการเดินในน้ำ หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน ๆ และต้องดูแลรักษาความสะอาดทั้งร่างกาย และความสะอาดของอาหารการกินด้วยเช่นกัน แต่ถ้าหากรู้สึกป่วย อาการไม่ดีขึ้น ให้รีบพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาทันที ถึงแม้ว่าบางโรคสามารถหายเองได้ แต่ก็ไม่ควรปล่อยไว้นาน ๆ เพราะอาจจะเป็นอันตรายได้
ข้อมูล : gedgoodlife.com และ bangpakokhospital.com