แรงงาน (Labor) คือ ทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ โดยการใช้แรงกายและกำลังความคิดในการทำงาน และได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินหรือสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่ง หากไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ จะถือว่าไม่ใช่แรงงาน
ในพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายของแรงงานไว้ว่า แรงงานคือประชากรในวัยทำงานที่ไม่รวมคนพิการ คนวิกลจริต นักเรียนหรือนักศึกษา แม่บ้าน ทหาร นักบวช ผู้ต้องขังและผู้ประกอบกิจการเพื่อหากำไร
ความสำคัญของแรงงาน
แรงงานคือทุนมนุษย์ที่เป็นกำลังสำคัญในการช่วยให้การเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจโดยรวมเป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ เป็นปัจจัยในการผลิตที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในทุกๆ องค์กร ยิ่งแรงงานมีประสิทธิภาพมากเท่าไหร่ การขยายตัวทางเศรษฐกิจก็ยิ่งมีความเป็นไปได้สูงมากเท่านั้น เพราะเหตุนี้ ผู้ประกอบการหรือผู้ที่มีอำนาจในองค์กรควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพและความสามารถของแรงงาน เพื่อให้สามารถสร้างผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจให้กับองค์กร รวมไปถึงสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติได้มากที่สุด
กล่าวถึงเฉพาะในประเทศไทย แรงงานถูกมองว่าเป็นเพียง “เครื่องมือ” ที่มีค่ามากกว่าเครื่องจักรเพียงหยิบมือเท่านั้น ไม่เทียบเท่ากับผู้ที่อยู่ในระดับธรรมดาทั่วไปหรือระดับสูง เช่น พนักงาน หัวหน้า ผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจ สังคมไทยในปัจจุบันประเมินค่าของแรงงานอยู่ในระดับล่างหรือมองว่าเป็นเพียงคนที่ใช้แรงกายในการทำงาน (worker) ไม่ใช่คนที่อยู่ในระดับพนักงาน (employee) จึงประเมินค่าตอบแทนของแรงงานเป็นจำนวนเงินที่น้อยจนถึงน้อยที่สุด ทำให้แรงงานแทบทุกชีวิตต้องดิ้นรนทำงานให้หนักเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว
หากพิจารณาดูให้ดีแล้ว แรงงานเป็นส่วนที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนทิศทางของระบบเศรษฐกิจ และเป็นปัจจัยหลักๆ ในการดำเนินงานด้านการผลิตเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับสินค้าและบริการ ดังนั้น แรงงานจึงไม่ควรถูกประเมินค่าต่ำอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และสมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับการปฏิบัติเช่นคนปกติทั่วไป รวมไปถึงค่าตอบแทนที่แรงงานทุกคนสมควรได้รับในจำนวนที่สมเหตุสมผลกับแรงกายที่ใช้ในการทำงาน