วันลอยกระทง หรือ ประเพณีลอยกระทง เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณ ตามที่มีหลักฐานปรากฎว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี โดยจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย ซึ่งจะเป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงดูสวยงาม และหนึ่งในกิจกรรมคืนวันลอยกระทงที่นิยมทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณก็คือ การประดิษฐ์กระทงจากวัสดุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหยวกกล้วย ใบตอง ดอกไม้ หรือใบไม้แห้ง แล้วนำไปลอยในแม่น้ำลำคลอง ซึ่งการลอยกระทงนี้ก็ไม่ใช่แค่ลอยไปเฉยๆ แต่ลอยกันตามความเชื่อที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อนคือ

1. ลอยกระทงเพื่อขอขมาพระแม่คงคา
การลอยกระทงตามความเชื่อที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นการลอยเพื่อขอขมาต่อพระแม่คงคาที่เราได้เคยทำให้แม่น้ำลำคลองสกปรกจากการทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในน้ำ และเพื่อเป็นการสำนึกในบุญคุณของพระแม่คงคาที่ให้เราได้มีน้ำไว้ใช้ดื่มใช้กิน ซึ่งการขอขมาต่อพระแม่คงคานั้น นอกจากการลอยกระทงแล้ว เรายังจะต้องช่วยกันรักษาความสะอาด ไม่ทิ้งสิ่งสกปรกลงในแม่น้ำลำคลองด้วย
2. ลอยกระทงเพื่อสักการะรอยพระพุทธบาท
เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพตามที่พญานาคได้ทูลอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ ครั้นเมื่อพระองค์จะเสด็จกลับ พญานาคได้ทูลขออนุสาวรีย์ไว้สักการะบูชา พระพุทธองค์จึงได้ทรงประทับรอยพระบาทไว้บนหาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งที่อยู่ในแคว้นทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่าแม่น้ำเนรพุททา
3. ลอยกระทงเพื่อปลดปล่อยความทุกข์ไปกับแม่น้ำ
อีกหนึ่งความเชื่อเกี่ยวกับการลอยกระทงก็คือ เพื่อปลดปล่อยความทุกข์โศกและโรคภัยต่างๆ ให้ลอยไปพร้อมกับกระทง โดยคนโบราณเชื่อกันว่า กระทงที่เรานำไปลอยจะนำพาความทุกข์และโรคภัยไข้เจ็บไปให้พ้นตัวเรา มีการใส่เศษเล็บ เศษผม และเงินลงไปในกระทง โดยเชื่อว่าจะเป็นการตัดความทุกข์ทิ้งไปนั่นเอง ถือเป็นความเชื่อที่ทำเพื่อความสบายใจ เพราะในความเป็นจริงแล้วเราไม่สามารถลอยความทุกข์หรือโรคภัยไข้เจ็บไปกับกระทงได้