การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก ทำให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ มากมาย และหลังจากที่กระแพร่ระบาดไปได้สักระยะหนึ่ง ได้มีคำว่า New Normal หรือความปกติในรูปแบบใหม่ ซึ่งความหมายจริง ๆ ของ New Normal คืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จัก และทำความเข้าใจแบบง่าย ๆ กันค่ะ
New Normal คืออะไร
New Normal หรือ New Norm หมายถึง ความปกติใหม่ นั่นคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนในการใช้ชีวิตประจำวัน และการขับเคลื่อนทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะออนไลน์ ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของเราต้องปรับตัวสู่ New Normal ในแทบทุก ๆ ด้าน ทั้งนี้ในรูปแบบวิถีชีวิตใหม่นี้ ประกอบด้วยวิธีคิด วิธีเรียนรู้ วิธีสื่อสาร วิธีปฏิบัติและการจัดการ ทำให้การใช้ชีวิตแบบใหม่เกิดขึ้นหลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงและรุนแรงอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้มนุษย์ต้องปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันได้มากยิ่งขึ้น
ที่มาของ New Normal
New Normal หรือ ความปกติในรูปแบบใหม่ เป็นคำศัพท์ที่ถูกใช้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2008 โดย Bill Gross นักลงทุนในตราสารหนี้ชื่อดัง อเมริกัน และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Pacific Investment Management (PIMCO) ซึ่ง Bill Gross ใช้คำนี้นิยามสภาวะเศรษฐกิจโลกในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2007-2008 ในสหรัฐ และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Recession) ช่วงปี 2008-2012 ทั่วโลก โดยบอกว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะมีการเติบโตที่ชะลอตัวลง และจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่ำกว่าเดิม อีกทั้งความผันผวนทางเศรษฐกิจจะไม่ได้เป็นไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจเดิมที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจัยกำหนดทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไป หรือส่งผลต่อเศรษฐกิจในลักษณะที่แตกต่างจากอดีต
แนวคิดเรื่อง New Normal ของ Bill Gross ในช่วงแรกไม่ได้รับความสนใจ และยังถูกปฏิเสธโดยนักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งที่เชื่อว่า การชะลอตัวที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการถดถอย (recession) ตามวัฏจักรเศรษฐกิจเดิมเท่านั้น และในไม่ช้าเศรษฐกิจและการจ้างงานก็จะกลับมาเติบโตได้ที่ค่าเฉลี่ยดังเดิม แต่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสิ่งที่ Bill Gross ได้พูดไว้ตั้งแต่ปี 2008 นั้นมีส่วนที่ถูกอยู่ไม่น้อย
ด้านสุขอนามัย
การระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่หันมาสนใจสุขภาพและสุขอนามัยทั้งของตนเอง และของส่วนรวมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย หรือเลือกทานแต่ของที่มีประโยชน์ รวมไปถึงสถานที่ต่าง ๆ จะมีเจลแอลกอฮอล์ และมีบรรจุภัณฑ์ถูกสุขอนามัยให้ลูกค้าใช้ การเว้นระยะห่าง และช่องชำระสินค้า การช้อปปิ้งแบบใหม่ จุดชำระเงินอัตโนมัติหรือบริการอื่น ๆ นอกจากนี้รถไฟฟ้าและรถโดยสารประจำทาง ต่างต้องทำป้ายเพื่อให้ผู้โดยสารนั่งเว้นระยะ และจัดทำการจุดการยืนของรถไฟฟ้าและรถโดยสารประจำทาง ทั้งนี้พฤติกรรมด้านสุขอนามัยของการใช้ชีวิตตามวิถีใหม่ หรือ New normal ได้แก่
– สวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเสมอ
– ต้องเว้นระยะห่าง 2 เมตร
– ล้างมือบ่อย ๆ พกเจลแอลกอฮอล์
– หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด
– หลีกเลี่ยงกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ที่มีอาการป่วย
ด้านไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ
จากที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของเราต้องปรับตัวสู่ New Normal ในแทบทุก ๆ ด้าน รวมไปถึงการทานอาหารตามร้านต่าง ๆ หรือห้างสรรพสินค้า ที่ก่อนหน้านี้ให้มีแต่ซื้อกลับ และสั่งแบบ Delivery แทน แต่เมื่อยอดผู้ติดเชื้อในประเทศไทยลดลงรัฐบาลจึงได้มีมาตราการผ่อนปรน ทำให้ร้านอาหาร และห้างสรรพสินค้า สามารถให้ลูกค้านั่งทานอาหารในร้าน แต่ภายในร้านจะจัดโต๊ะที่นั่งให้รับประทานได้โต๊ะละ 1 – 2 คน วางโต๊ะห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร ไม่ให้ลูกค้าใกล้ชิดหรือแออัดกัน และมีเจลแอลกอฮอล์ไว้ตั้งบริการ เพื่อให้มีการรักษาความสะอาดในร้านอาหารมากขึ้น
นอกจากนี้ทำให้โรงภาพยนตร์สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้แล้ว รวมถึงอนุญาตให้เปิดโรงละคร โรงมหรสพ โรงลิเกและลำตัดได้ แต่ยังงดการจัดคอนเสิร์ตต่อไป แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีขั้นตอนในการควบคุม และป้องกันโรคตามมาตรการของกระทรวงสาธารสุขอย่างสเคร่งครัด ซึ่งทำให้ทางผู้ให้บริการโรงภาพยนตร์บางเจ้าได้ออกมาตรการ และคู่มือการปฏิบัติตัวในโรงหนังตามแนวทาง New Normal มาให้อีกด้วย
ด้านการทำงาน
ในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดใหม่ ๆ ทำให้หลาย ๆ บริษัทต้องให้พนักงานทำงานอยู่ที่บ้าน หรือ Work from home นั่นเอง และเมื่อจำนวนยอดผู้ติดเชื้อน้อยลง ก็จะทยอยให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศได้บางส่วน แต่ทั้งนี้การกลับมาทำงานในออฟฟิศ ก็ได้มีการจัดวางพื้นที่ทำงานให้เหมาะสม นั่งทำงานห่างกัน ลดความแออัด การรับประทานอาหารให้แยกสำรับหรือนั่งทานที่โต๊ะทำงานของตัวเอง รวมไปถึงการวัดอุณหภูมิ การใส่หน้ากากผ้า และมีเจลแอลกอฮอล์ให้พนักงานได้ใช้ตามจุดที่ต้องสัมผัสบ่อย ๆ ซึ่งการรักษาความสะอาดในสถานที่ทำงานจึงมีความจำเป็นอย่างมากนอกจากนี้การทำงานแบบ Work from home อาจจะกลายเป็นวิถีการทำงานแบบใหม่สำหรับผู้ทำงาน และบริษัทในอนาคตอีกด้วย
ด้านการศึกษา
การระบาดของโควิด-19 ทำให้โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ต้องเลื่อนการเปิดภาคเรียนออกไปก่อน จึงทำให้นักเรียน นักศึกษา จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนใหม่สะท้อน New Normal โดยการเริ่มเรียนออนไลน์จากที่บ้าน ซึ่งโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ที่จัดการเรียนการสอนออนไลน์ได้ ก็เริ่มวางแผนตารางเรียนออนไลน์ให้ได้เรียนรู้ผ่านโปรแกรมต่าง ๆ เช่น Google Meet Zoom Microsoft Team สามารถพูดคุยสนทนากับคุณครูหรืออาจารย์ด้วยการใช้นวัตกรรมมาเป็นตัวช่วยอีกด้วย
ด้านธุรกิจ เศรษฐกิจ
ในด้านธุรกิจ เศรษฐกิจ จะต้องมีการปรับเปลี่ยน เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้การจับจ่ายซื้อของต่าง ๆ ก็ต้องซื้อออนไลน์กันมากขึ้น จึงทำให้ธุรกิจหรือการค้าขายในความปกติรูปแบบใหม่จึงหนีไม่พ้นการทำธุรกิจออนไลน์ โดยเฉพาะธุรกิจขายสินค้าและจัดส่งแบบ เดลิเวอรี่ ที่มีการเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงนี้ อย่างเช่น ร้านอาหารต่าง ๆ มีทั้งขายแบบเดลิเวอรี่และให้ทานที่ร้าน รวมไปถึงการขายของทางออนไลน์อื่น ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า เครื่องประดับ ต้นไม้ เครื่องใช้ครัวเรือน เป็นต้น
ด้านการท่องเที่ยว
ในส่วนของการท่องเที่ยวนั้นได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากช่วงที่ประเทศไทยได้พบการระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มมีจำนวนประชากรติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้เกิดการประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์ และประกาศ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน ทำให้ต้องปิดสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ และต้องอยู่แต่ในบ้านมากกว่าการออกไปข้างนอก หลังจากที่ผู้ติดเชื้อภายในประเทศน้อยลงแล้ว รัฐบาลจึงได้ผ่อนคลายระยะที่ 2 ทำให้เริ่มประกาศให้สถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งกลับมาเปิดได้อีกครั้ง อย่างเช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุทยานประวัติศาสตร์ หอสมุดแห่งชาติ หอจดหมายเหตุ
แต่ทั้งนี้ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ การเว้นระยะห่าง เป็นต้น ทำให้การท่องเที่ยวรองรับการใช้ชีวิตตามวิถีใหม่ หรือ New normal ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพความสะอาด และความปลอดภัยเป็นหลัก พร้อมนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในหลาย ๆ ด้านอีกด้วย
ข้อมูล : sanook.com, bangkokbiznews.com และ thairath.co.th