“ฝุ่นละออง PM2.5 คืออะไร และต้องตื่นกลัวกันขนาดไหน”

1. ฝุ่นละออง PM 2.5 คือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กมากๆๆๆ ตามองไม่เห็น คือเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (ไมโครเมตร) หรือเล็กกว่า 3% ของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมเสียอีก .. ในเมืองใหญ่นั้น สาเหตุหลักๆ คือ จากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และจากการก่อสร้าง (ไม่ใช่จากการเผาหญ้า เผาฟาง ทำไร่นะ)

2. จริงๆ ฝุ่นละออง ทั้งขนาด PM 2.5 และที่ขนาดใหญ่กว่านั้น
ก็ล้วนแล้วแต่เป็นมลพิษทางอากาศและเป็นปัญหาสำคัญของเมืองใหญ่ อย่างที่เป็นคลิปว่าเห็นฝุ่นลอยเต็มไปหมดที่ “สวนลุมพินี” นั่นน่าจะเป็นฝุ่นละอองขนาดใหญ่กว่า 50 ไมครอนที่ตามองเห็นได้ … แต่ฝุ่นยิ่งเล็กเท่าไหร่ แทนที่มันจะตกลงสู่พื้นได้เร็วตามปรกติ มันกลับยิ่งแขวนลอยอยู่ในอากาศนานขึ้นเท่านั้น และทำให้เป็นปัญหาต่อสุขภาพหนักขึ้นไปอีก

3. ฝุ่น PM 2.5 มีอันตรายต่อสุขภาพอย่างชัดเจน เพราะการที่มันเล็กมาก ทำให้มันสามารถผ่านทางเดินหายใจสู่ปอดและสร้างปัญหากับหลอดเลือดได้ง่ายขึ้นเยอะ (พวกที่มีขนาดใหญ่ มักจะโดนดักเอาไว้ตั้งแต่ด้วยขนจมูก และด้วยเมือกและขนโบกตามช่องทางเดินหายใจ) และจะไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและโรคทางเดินหายใจ

4. ในกรุงเทพฯ ระดับฝุ่น PM 2.5 ในช่วงเดือนมกรา-กุมภานี้ มีระดับสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร)ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะตามริมถนนใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่น และมีการก่อสร้างอยู่ เช่น ถนนพระราม 4 ถนนลาดพร้าว ถนนพญาไท ถนนอินทรพิทักษ์ (ดูข้อมูลล่าสุดวันนี้ที่ https://www.facebook.com/…/a.53640555310…/1609515919131789/…)

5. อย่างไรก็ตาม ระดับฝุ่น PM2.5 ที่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานนี้ ไม่ได้สูงถึงระดับวิกฤติ อย่างที่มีข่าวกันออกมาช่วงแรก ซึ่งเกิดจากการที่บางเว็บไซต์ไปคำนวณกันเองและเอาไปเทียบกับมาตรฐานต่างประเทศ ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง

6. สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 สูงนั้น มีมาหลายปีแล้ว แต่ที่ปีนี้กลายเป็นประเด็นกันรณรงค์กันมาก เพราะมันมาค่อนข้างมาเร็วกว่าปีที่ผ่านๆ มา (มาตั้งแต่มกราคม) และค่อนข้างอยู่นานหลายเดือน … ปรกติ ฝุ่น PM 2.5 จะเยอะขึ้นในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล จากฤดูหนาวไปฤดูร้อน เช่นช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งมักจะมีหมอก(ไอน้ำ)เกิดขึ้น ทำให้อากาศปิด แสงแดดส่องไม่ถึงพื้น ฝุ่นละอองขาดแรงในการผลักให้ลอยตัวสูงขึ้นไป จนสะสมอยู่ในอากาศเรี่ยพื้นดิน

7. ดังนั้น การเฝ้าระวังฝุ่น PM2.5 โดยตัวเราเอง นอกจากจะหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้บริเวณริมถนนใหญ่ หรือบริเวณที่มีการก่อสร้างมาก ก็ยังสามารถติดตามค่าตัวเลขรายวันจากกรมควบคุมมลพิษแล้ว (https://www.facebook.com/PCD.go.th/) รวมไปถึงการสังเกตว่าวันนั้นเป็นวันที่สภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ มีความชื้นในอากาศสูง มีหมอก(ไอน้ำ)หนาหรือไม่ เพราะจะมีการสะสมของฝุ่น PM 2.5 มาก… หรือถ้าวันไหนมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น วันนั้นปริมาณฝุ่นละอองในอากาศก็จะเจือจางลงไป

8. แล้วเราต้องตื่นกลัวฝุ่น PM 2.5 มากแค่ไหน ? ถ้าท่านเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะมีปัญหาสุขภาพ เช่น ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ หรือโรคหัวใจและหลอดเลือด ก็ควรที่จะหลีกเลี่ยงการเข้าสู่พื้นที่ที่มีฝุ่นละอองสูงเกินมาตรฐานที่กำหนด เช่น ริมถนน ริมพื้นที่ก่อสร้าง … ถ้าอยู่แต่ในอาคารได้ ก็จะมีความปลอดภัยมากกว่า หรือถ้าจำเป็นต้องออกไปจริงๆ ก็ควรจะต้องใส่หน้ากากอนามัยระดับ N95 … ส่วนประชาชนสุขภาพดีทั่วไป ก็ยังไม่จำเป็นจะต้องตื่นกลัวขนาดนั้น นอกเสียจากว่าจะต้องใช้ชีวิตหรือทำงานในบริเวณสุ่มเสี่ยงดังกล่าวเป็นประจำ จึงจะควรใส่หน้ากากป้องกันด้วย

9. หน้ากากอนามัยที่จะป้องกันฝุ่น N95 ได้นั้น ก็ต้องมีความละเอียดของเส้นใยสูงพอที่จะกรองฝุ่นเล็กขนาด 2.5 ไมครอนได้ อย่างหน้ากาก N95 ที่มีขายกัน จะกรองอนุภาคขนาด 0.3 ไมครอนได้ถึง 95% (ที่มาของชื่อ N95) จึงเหมาะสมที่จะเอามาใช้ … ส่วนพวกแผ่นผ้าปิดปาก ที่ขายกันทั่วไปนั้น นอกจากจะกรองไม่ได้ละเอียดพอแล้ว ยังไม่แนบชิดกับใบหน้าเพียงพอด้วย อากาศยังผ่านเข้าออกได้ง่าย

10. เดี๋ยวปลายเดือนนี้ สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 คงจะดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ยังไงก็ตาม ฝุ่นละอองทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ ก็ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่มากก็น้อย จึงควรช่วยกันลดต้นเหตุในการเกิดฝุ่น เช่น ลดการใช้ยานพาหนะ ปิดคลุมพื้นที่ก่อสร้างและรถที่ขนส่งวัสดุก่อสร้างให้มิดชิด รวมถึงทาง กทม. เองก็ควรจะเอารถดูดฝุ่น และพ่นน้ำบนท้องถนนมากขึ้นด้วย

ข้อมูลจาก http://www.pcd.go.th/info_serv/air_dust.htm และhttp://www.bbc.com/thai/thailand-42970714[:]