วันทหารผ่านศึก คือวันแห่งการระลึกถึงความกล้าหาญและความเสียสละของทหารที่ได้สละชีวิตเพื่อปกป้องประเทศชาติให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข โดยหลังจากสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารไทยจำนวนมากถูกปลดจากการเป็นทหาร ทำให้มีเสียงเรียกร้องต่อทางการให้พิจารณาเรื่องให้ความช่วยเหลือ ต่อมาในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 จึงได้มีการร่างพระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกขึ้น และได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา จึงถือว่าวันที่ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น “วันทหารผ่านศึก” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
“องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก” จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ให้การสงเคราะห์แก่ทหารผ่านศึก รวมไปถึงครอบครัวทหารผ่านศึก โดยทุกๆ ปีในวันที่ 3 กุมภาพันธ์จะมีการจัดพิธีวางพวงมาลาเพื่อแสดงความคารวะต่อดวงวิญญาณของเหล่านักรบที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีการจัดพิธีสวนสนาม และยังมีการจำหน่าย “ดอกป๊อปปี้สีแดง” สัญลักษณ์ในวันทหารผ่านศึกอีกด้วยดอกป๊อปปี้สีแดง สัญลักษณ์แทนหยดเลือดแห่งความกล้าหาญของเหล่านักรบ
ดอกป๊อปปี้ (Poppy) จัดเป็นพืชในวงศ์ Papaveraceae ที่ออกดอก มีหลายสีต่างกันไปตามสายพันธุ์ ส่วนดอกป๊อปปี้สีแดงพันธุ์ Papaver rhoeas เป็นวัชพืชพันธุ์หนึ่งในยุโรป ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนของทหารผ่านศึกที่ได้ใช้ความกล้าหาญชาญชัย สละแม้กระทั่งเลือดเนื้อของตัวเองเพื่อปกป้องผืนแผ่นดิน
ทำไมต้องเป็นดอกป๊อปปี้สีแดง?
เหตุผลที่ต้องเป็นดอกป๊อปปี้สีแดงนั้นมาจากเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ทหารพันธมิตรได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุด ในครั้งนั้น จอมพลเอิร์ล ออฟ เฮก ผู้บัญชาการรบได้มาเห็นปรากฎการณ์ธรรมชาติอันน่าพิศวงที่บริเวณหลุมฝังศพทหาร ดอกป๊อปปี้ป่าสีแดงกระจายอยู่ทั่วบริเวณ เกิดเป็นลานสีแดงฉานดูสวยงาม ดอกป๊อปปี้สีแดงจึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์เตือนใจให้ระลึกถึงหยดเลือดสีแดงของเหล่าทหารที่หลั่งชโลมแผ่นดินด้วยความกล้าหาญมาจนถึงทุกวันนี้
สำหรับการจัดทำและจำหน่ายดอกป๊อปปี้ในประเทศไทยนั้น เริ่มขึ้นจากดำริของท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร ประธานสโมสรสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก หรือมูลนิธิสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึกในปัจจุบัน ที่ต้องการระดมทุน เพื่อนำมาช่วยเหลือทหารและครอบครัวทหารผ่านศึกที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันประเทศ จึงได้เลือกเอาดอกป๊อปปี้เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายอย่างมากในวันทหารผ่านศึก โดยเริ่มมีการจำหน่ายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 เป็นต้นมา