เมื่อถึงวันพระใหญ่หรือวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชนหลายคนมักจะเข้าวัดทำบุญ สร้างบุญสร้างกุศลด้วยการฟังพระฟังธรรม สวดมนต์ ใส่บาตรพระ ทำจิตใจให้สงบ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งดีๆ ที่ชาวพุทธนิยมทำในวันพระหรือวันสำคัญทางศาสนา แต่นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีสิ่งดีๆ อีกมากมายที่สมควรทำในวันพระใหญ่ ซึ่งนอกจากจะทำให้ได้บุญแล้ว ยังเป็นการทำความดีทั้งต่อตัวเองและต่อผู้อื่นด้วย

1. เข้าวัดทำบุญ

สิ่งแรกที่ชาวพุทธหลายคนจะต้องทำในวันพระก็คือการเข้าวัดทำบุญ ทำทาน เช่น ถวายสังฆทาน ปล่อยนก ปล่อยปลา ฟังเทศน์ นั่งสมาธิเพื่อทำจิตใจให้สงบ

2. ประพฤติตัวอยู่ในศีล 5

การประพฤติตัวให้อยู่ในศีลถือเป็นข้อควรปฏิบัติสำหรับพุทธศาสนิกชนทุกคน โดยเฉพาะศีล 5 ที่หลายคนท่องจำได้ขึ้นใจแต่ก็ยังคงละเลย ทำบ้างไม่ทำบ้าง ในวันพระใหญ่นี่แหละเป็นโอกาสดีที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง รักษาศีลให้ครบทั้ง 5 ข้อ ถือเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ดีไปด้วย

3. เคารพและเชื่อฟังบุพการี

เคยสังเกตตัวเองกันไหมว่าที่ผ่านๆ มาเราเคยได้ทำอะไรไม่ดีกับบุพการีหรือผู้ใหญ่ในบ้านไปบ้างหรือเปล่า ลองใช้วันพระใหญ่นี้เป็นโอกาสเปลี่ยนตัวเอง เคารพและเชื่อฟังท่านให้มากขึ้น ทำตัวเป็นลูกที่ดีและอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่

4. ทำความดีช่วยเหลือสังคม

เกิดมาเป็นคนทั้งทีต้องรู้จักทำสิ่งดีๆ ช่วยเหลือผู้อื่น เพราะนอกจากจะได้บุญแล้วยังเป็นการช่วยเหลือและแบ่งปันน้ำใจให้กับสังคม เช่น เป็นอาสาสมัครพัฒนาชุมชน เก็บขยะ หรือทำความสะอาดอาคารสถานที่ที่ทรุดโทรม เป็นต้น

5. ให้ชีวิตด้วยการบริจาคโลหิต

อีกหนึ่งการแบ่งปันน้ำใจที่ได้บุญมหาศาลคือการบริจาคโลหิต เพราะการบริจาคโลหิตเป็นการให้เลือดเพื่อต่อชีวิตให้กับผู้อื่น ปัจจุบันมีศูนย์รับบริจาคโลหิตตามสถานที่ต่างๆ และที่สภากาชาดไทย หากสนใจก็สามารถไปร่วมบริจาคกันได้

6. แก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาด

ไม่ว่าใครต่างก็เคยทำผิดพลาดกันทั้งนั้น แต่อยู่ที่ว่าเราจะจัดการกับความผิดพลาดนั้นอย่างไร หากรู้ตัวว่าทำผิด สิ่งที่ควรทำคือ “ขอโทษ” แล้วรีบแก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาด ใช้โอกาสในวันพระใหญ่ปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น

7. รู้จักให้อภัย

“โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า” วลีสั้นๆ ที่ใช้เตือนสติคนอารมณ์ร้อน โกรธหรือโมโหง่าย ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้วยังเหมือนเป็นการจุดไฟเผาตัวเอง ในโอกาสวันพระใหญ่เมื่อได้เข้าวัดฟังธรรม ลองฝึกควบคุมอารมณ์และจิตใจ ให้อภัยคนอื่นให้มากขึ้น จิตใจจะได้สงบและไม่เป็นทุกข์

8. ตัดขาดอบายมุข

สิ่งมึนเมาหรืออบายมุขต่างๆ เช่น เหล้า บุหรี่ สารเสพติด มีแต่จะทำร้ายทั้งตัวเองและคนรอบข้าง หากสามารถเลิกได้ในวันพระก็จะถือเป็นการเริ่มชีวิตใหม่ที่ดี เป็นสิริมงคล แต่ความจริงแล้วไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงวันพระก็สามารถเลิกได้

9. แนะนำให้ผู้อื่นสร้างความดี

เมื่อทำครบทั้ง 8 ข้อที่กล่าวมาแล้ว ควรแนะนำให้ผู้อื่นทำเช่นเดียวกันด้วย ถือเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลแบบสองเท่า เพราะนอกจากเราจะได้บุญแล้ว ยังได้แบ่งปันผลบุญนี้กับผู้อื่นอีกด้วย

 

ที่มารูปภาพ : pixabay.com